เทคโนโลยีขยะเพิ่มทรัพย์ หรือ C-ROS ย่อมาจากภาษาอังกฤษคำเต็มว่า Cash Return from Zero and Segregation of Waste เป็นแพลตฟอร์มเทคโนโลยีชีวภาพแบบบูรณาการเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคม ZeroWaste เทคโนโลยี C-ROS สามารถเปลี่ยนขยะอินทรีย์จากอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร ขยะเศษอาหารจาก เทศบาล ชุมชนและครัวเรือนให้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและสารชีวภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม C-ROS จัดเป็นนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญเพื่อการสร้างรากฐานสู่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) C-ROS สามารถเพิ่มมูลค่าของขยะอินทรีย์ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการนำขยะประเภทอื่นไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยเทคโนโลยี C-ROS เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง สามารถเปลี่ยนขยะเศษอาหาร ปริมาณ 1 ตัน ให้เป็นสารมูลค่าตัวต่างๆที่อาจมีราคารวมถึง 50,000-100,000 บาท ทีมนักวิจัย C-ROS มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมชิ้นนี้ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการจัดการขยะในประเทศไทย เพื่อเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการส่งเสริมให้ชุมชนบริหารจัดการและแยกขยะอย่างถูกต้อง ชุมชนใดสามารถแยกขยะอินทรีย์ออกมาจากขยะประเภทอื่นก็สามารถใช้ C-ROS ในการแปลงขยะเป็นเงินคืนกลับสู่ชุมชน
C-ROS เป็นโครงการวิจัยที่ได้เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2562 โดยเป็นการดำเนินการความร่วมมือแบบ triple helix ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากภาครัฐและเอกชน (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด) และดำเนินการวิจัยโดยสถาบันอุดมศึกษา โดยสถาบันวิจัยหลักที่เป็นแกนนำในด้านงานวิจัย เทคดนโลยี C-ROS คือ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) โดยมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทีมวิจัย C-ROS ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรมากกว่า 20 คนมาร่วมทำงานกันอย่างใกล้ชิด โดยโครงการวิจัยเทคโนโลยี C-ROS ดยมีจุดเริ่มมาจากงานวิจัยก่อนหน้า คือโครงการ “น่าน Zerowaste” ที่ได้เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2561 โดยการสนับสนุนจากธนาการกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และสถาบันวิทยสิริเมธี
ทีมนักวิจัย C-ROS ได้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถใช้งานได้จริง มีความคุ้มทุนและเป็นเทคโนโลยีที่พร้อมสำหรับการขยายขนาด โดยนักวิจัย C-ROS ได้คัดเลือกและสร้างเซลล์ขึ้นมาใหม่ พัฒนาเอนไซม์ตัวใหม่ๆ และดำเนินการวิจัยวิศวกรรมกระบวนการเพื่อให้ได้ต้นแบบของเซลล์และระบบวิศวกรรมสำหรับการเปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและสารชีวภัณฑ์ ชีวเคมี โดยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นนี้มีศักยภาพเพร้อมสำหรับการใช้งานโดยชุมชนองค์กรหรือภาคเอกชนในประเทศไทยที่ต้องจัดการขยะอินทรีย์ในระดับมากกว่า 500 กิโลกรัมต่อวัน โดยเทคโนโลยี C-ROS เป็นเทคโนโลยีแบบสะอาด ไม่ปล่อยสารพิษ สารเคมีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและใช้พลังงานต่ำ